โพสต์แรกของปี 2017

    สวัสดีครับทุกๆท่าน ช่วงวันหยุดปีใหม่หลายวันนี้คงเป็นช่วงเวลาที่หลายๆคนมีความสุข ได้พักผ่อน บางคนอาจจะไปเที่ยว เยี่ยมญาติตามจังหวัดต่างๆ หรือไปต่างประเทศก็ตาม แต่สำหรับผมนั้น ไม่ค่อยชื่นชอบที่จะไปเที่ยวในฤดูกาลนี้ซักเท่าไหร่ เพราะว่านักท่องเที่ยวจะเยอะ รถติด ร้านอาหารก็จะรอคิวกันยาวเหยียด การบริการก็จะลดระดับลงเพราะปริมาณแขกมากกว่าปกติ  ผมจึงเลือกที่จะอยู่กับบ้าน จัดการงานการที่คั่งค้าง หรือซ่อมบ้านและของใช้ที่เสียหายไปตามอายุการใช้งาน อย่างที่บอกนะครับ บล๊อกนี้ผมเขียนไปเรื่อย นึกเรื่องอะไรได้ก็เขียนครับ วิทยุสมัครเล่นบ้าง ชีวิตประจำวันบ้าน ไปเที่ยวเล่น ดูหนังฟังเพลง ผสมกันไปเรื่อยนะครับ

    วันหยุดนี้ผมเอาเครื่องวิทยุสื่อสารในกรุออกมาตรวจเช็คสภาพและทำความสะอาด ถือโอกาสโปรแกรมความถี่ใช้งานเสียใหม่ ให้เข้ากับ Band-plan ใหม่ที่ กสทช. ประกาศใช้เมื่อปีก่อน รวมไปถึงช่องใช้งานที่ไม่ได้ใช้แล้วหลายๆช่องก็ลบทิ้งไป อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆนักวิทยุสมัครเล่นบางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ เครื่องวิทยุสื่อสารนี่มันต้องโปรแกรมความถี่กันด้วยหรอ ปกติพอเราเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว อยากได้ความถี่ไหนก็จิ้มๆ หมุนๆเอา ก็ได้แล้วไม่ใช่เหรอ


    ใช่ครับ เครื่องวิทยุทั่วๆไปที่นักวิทยุสมัครเล่นใช้งานก็จะเป็นเครื่องวิทยุแบบสังเคราะห์ความถี่ประเภท 1 (เรียกสั้นๆว่า เครื่องประเภท 1) ผู้ใช้งานสามารถตั้งความถี่และฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมดได้เองจากหน้าเครื่อง และอีกประเภทก็คือเครื่องวิทยุแบบสังเคราะห์ความถี่ประเภท 2 (เครื่องประเภท 2) ผู้ใช้งานไม่สามารถตั้งความถี่ได้จากหน้าเครื่อง ใช่ครับ วิทยุของผมก็เป็นสาวประเภท 2 นี่แหละครับ ถึงต้องเอามาโปรแกรมความถี่ที่ใช้งานอยู่เป็นระยะๆ

Motorola MT-1000 รุ่นลูกบิด 16 ช่อง (Cr. Picture: Internet)


    สำหรับเครื่องประเภท 2 นี้ บางรุ่นจะมีลูกบิดเพื่อให้ผู้ใช้เลือกความถี่ตามที่ได้ตั้งไว้ เรียกกันภาษาชาวบ้านว่าเลือกช่อง ส่วนมากมี 8 - 16 ช่องให้เลือก หรืออีกแบบก็คือ มีปุ่มกดและแสดงผลบนหน้าจอ Liquid Crystal Display (LCD) ซึ่งมีตั้งแต่ 16 ช่อง ไปจนถึงรุ่นใหม่ๆเดี๋ยวนี้มีถึง 1,000 ช่องครับ ในรุ่นพิเศษบางรุ่นที่ผลิตขายให้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น FCC หรือ Secret Service อาจจะมี Feature พิเศษที่เรียกว่า FPP (Front Panel Programming) มาด้วยครับ ทำให้ผู้ใช้สามารถกดเปลี่ยนความถี่ได้เองจากหน้าเครื่องเป็นการชั่วคราวหากมีความจำเป็น แต่การโปรแกรมความถี่จากหน้าเครื่องก็ไม่สามารถกำหนดค่าต่างๆของเครื่องวิทยุได้ทั้งหมดนะครับ จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์มาตั้งค่าอื่นๆอยู่ดี สำหรับวิทยุของผมจะเป็นเครื่องวิทยุ Motorola MT-1000 ครับ มีปุ่มกดเลือกช่องพร้อมหน้าจอแสดงผลได้ 99 ช่องครับผม

Motorola MT-1000 สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นไทย (Cr. Picture: Internet)


    รุ่นนี้จะมีความพิเศษ ที่ผมเรียกได้ว่าเป็นความน่ารักของทีมวิศกรผู้ออกแบบ ที่คำนึงถึงความเป็นจริงในการใช้งาน ก็คือ หน้าจอครับ โดยปกติ เวลาที่เราจะกดปุ่มเพื่อเปลี่ยนช่องนั้น เรามักจะหันหน้าวิทยุเข้าหาตัว (ตามภาพแรกด้านบน) แต่เวลาที่เราพกพา โดยเหน็บไว้ที่เอวแล้ว เมื่อก้มลงไปดูหน้าปัด ก็จะเห็นในอีกมุมหนึ่ง (กลับหัวกัน) ทำให้สับสนว่า เป็นช่อง 09 หรือช่อง 60 เป็นช่อง 16 หรือ 61 เป็นช่อง 10 หรือ 01 กันแน่ เครื่องรุ่นนี้ (และรุ่นอื่นๆที่มีหน้าจออยู่ด้านบนของตัวเครื่อง) สามารถปรับเปลี่ยนหน้าจอให้กลับไปมาตามมุมมองที่ผู้ใช้ต้องการได้ครับ นับว่าเป็นความน่ารักของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงการใช้งานภาคสนามจริงๆครับ

    การค่าให้กับเครื่องวิทยุ Motorola เกือบทุกรุ่นจะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการกำหนดค่าการทำงานต่างๆ ทั้งความถี่รับ-ส่ง กำลังส่ง การตั้ง Squelch ตั้งโหมดประหยัดพลังงาน ตั้ง Tone SQL (CTCSS) หรือที่ Motorola เรียกว่า Private Line (PL) หรือระบบ Signaling และ Selective Call ต่างๆ วิทยุที่ผมมีอยู่ส่วนมากจะเป็นรุ่นเก่าที่ต้องใช้โปรแกรมที่ทำงานบน DOS ครับ เราเรียกโปรแกรมจำพวกนี้ว่า Radio Service Software (RSS) จะมีอยู่สี่ห้าตัวเท่านั้น ที่เป็นวิทยุรุ่นใหม่ที่ใช้โปรแกรมบน Windows โดยเราเรียกว่า Computer Programming Software (CPS) ซึ่งก็จะมีความยากง่ายในการใช้งานแตกต่างกันออกไป เอาไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับ

 ภาพหน้าจอการโปรแกรมวิทยุสื่อสาร Motorola MT-1000

    การโปรแกรมเครื่องวิทยุถือเป็นความเสี่ยงรูปแบบนึงครับ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการโปรแกรมแล้ว จะทำให้วิทยุเสียหายไปอย่างถาวร (ฝรั่งเค้าใช้คำว่า Brick หมายถึงกลายเป็นก้อนอิฐ หรือที่ทับกระดาษไปเลย) และหากเสียหายไปแล้ว การจะแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิมก็เป็นเรื่องยุ่งยากครับ อุปกรณ์ที่ใช้ก็แน่นอนครับ เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ที่ CPU clock ช้าๆ ยิ่งเป็นเครื่อง IBM 386 หรือ 486 ได้ยิ่งดีครับ เพิ่มปลอดภัยในการโปรแกรมวิทยุได้อีกเยอะเลย กฏเหล็กของการเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้สำหรับการทำงานด้วย RSS ก็คือ จะต้องมี Port RS232 หรือ Serial Port ครับ ไม่สามารถใช้ USB to Serial converter ได้ครับ และที่สำคัญไม่แพ้คอมพิวเตอร์ก็คือ Radio Interface Box หรือที่คนในวงการชอบเรียกว่า RIB ครับ อุปกรณ์ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นล่ามระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องวิทยุ Motorola ของเรา เพื่อจะได้อ่านและบันทึกค่ากลับเข้าไปในเครื่องวิทยุครับ ส่วนอุปกรณ์ปลีกย่อยก็พวกสายสัญญาณต่างๆที่จะเชื่อมต่อ Computer, RIB, และ วิทยุเข้าด้วยกันครับ

รูป Motorola Radio Interface Box (Cr. Picture: Internet)

ภาพสาธิตการโปรแกรมวิทยุสื่อสาร Motorola
Cr. picture: http://www.repeater-builder.com/motorola/rss/rss-rib.html

    สำหรับเพื่อนๆที่มีใจรักในวิทยุสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Motorola ก็ขอฝากกลุ่มเฟสบุค Motorola Member Club ไว้ด้วยนะครับ เพื่อนผมเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นเมื่อเดือน ธค 2016 ที่ผ่านมานี้เองครับ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 2,500 คนเศษ ตอนนี้กำลังมีโพลสำรวจการใช้งานวิทยุสื่อสารของเพื่อนๆอยู่ด้วยครับ ขอเชิญชวนเพื่อนๆเข้าไปร่วมทำโพลที่ โพลสำรวจผู้ใช้งานวิทยุโมโตโรลา ด้วยนะครับ


ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวกับ Motorola นี้ ขอยกความดีให้แด่ ดร.ครรชิต จามรมาน และเว็บไซต์ต่างๆบนโลกอินเตอร์เน็ตครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โพลท์นี้สำหรับวันวาเลนไทน์

สัปดาห์แรกของปีใหม่

วันแรกของปี บล็อกแรกของปี 2559